วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บัว

บัว พันธุ์ไม้น้ำที่ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่องและคุณงามความดีในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบระดับสติปัญญาของมนุษย์กับการเจริญเติบโตของบัว เป็น 4 เหล่าคือ บัวในโคนตม บัวใต้น้ำ บัวปิ่มน้ำ และบัวเหนือน้ำ บัวเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ดูสง่างาม ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีสันสวยงาม เด่นสะดุดตาสะดุดใจแก่ผู้พบเห็น บางชนิดมีกลิ่นหอมน่าชื่นชม ด้วยเหตุนี้เองบัวจึงได้รับสมญาว่า "ราชินีแห่งไม้น้ำ"
บัว
บัว เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae จัดเป็นพืชน้ำล้มลุกที่มีอายุหลายปี พบได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อน เขตอบอุ่นและเขตหนาว จำแนกถิ่นกำเนิดและการเจริญเติบโตได้ 2 จำพวกคือ
  1. บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตอบอุ่นและเขตหนาว (Subtropical and Temperate Zones) เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ ภาคใต้ของอเมริกาใต้ ตอนเหนือของอินเดีย จีนและออสเตรเลีย บัวประเภทนี้มีเหง้าสะสมอาหารอยู่ในดิน เมื่อถึงฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นแผ่นน้ำแข็ง จะทิ้งใบและอาศัยอาหารในเหง้าเลี้ยงตัวเอง เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิน้ำแข็งละลายหมดก็จะเจริญแตกหน่อต้นใหม่ และจะเจริญเติบโตออกดอกออกผลหมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป เรียกบัวประเภทนี้ว่า Hardy Type หรือ Hardy Waterlily นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Castalia Group หรือ อุบลชาติประเภทยืนต้น
  2. บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตร้อน (Tropical Zones) เช่น ทวีปเอเชียตอนกลางและตอนใต้ อาฟริกา ออสเตรเลียตอนเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้ บัวประเภทนี้กำเนิดและเจริญเติบโตได้ในเขตร้อนเขตเดียว ถ้านำไปปลูกในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว เมื่อเข้าฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นน้ำแข็งทำให้บัวประเภทนี้ต้องตายไป จึงเรียกบัวประเภทนี้ว่า Tropical Type หรือ Tropical Waterlily นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Lotus Group หรือ อุบลชาติประเภทล้มลุก

ปทุมมา

ปทุมมา เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลำต้นสะสมอาหารอยู่ใต้ดินแบบเหง้า มีการเจริญเติบโตทางลำต้นและให้ดอกในช่วงฤดูฝนราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน จากนั้นจะทิ้งใบจนหมดแล้วพักตัวอยู่ในดินตลอดช่วงฤดูหนาวราวเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อถึงฤดูฝนก็จะเจริญเติบโตออกดอกอีกครั้ง ดอกปทุมมามีรูปทรงสง่าและมีสีสันสวยงาม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น จนได้รับการส่งเสริมให้เป็นไม้ตัดดอกและเก็บหัวพันธุ์เพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศ เป็นที่ประทับใจและชื่นชอบของชาวต่างประเทศจนได้สมญาว่า สยามทิวลิป (Siam Tulip)
ปทุมมา จัดเป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับขิงและข่า อยู่ในสกุล Curcuma มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศอินโดจีน พม่า และไทย สำหรับในประเทศไทยจะพบเห็นปทุมมาได้แทบทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีความหลากหลายของสายพันธุ์มากที่สุด ไม้ในสกุลนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
  • กลุ่มปทุมมา พบได้ทั่วไปในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเขตชายแดนไทย-ลาว และตามเขตชายแดนไทย-เขมร ส่วนใหญ่มักพบอยู่ตามทุ่งหญ้าที่โล่งแจ้งบริเวณชายป่าเบญจพรรณหรือบริเวณชั้นล่างของป่าเต็งรัง ลักษณะช่อดอกในกลุ่มปทุมมาจะแทงช่อดอกออกมาจากส่วนกลางของลำต้นเทียม ก้านช่อดอกยาวตรง ดอกจริงมีสีม่วงหรือสีม่วงอ่อน ไม้ในกลุ่มนี้มีหลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ประดับแปลง เช่น ปทุมมา บัวสวรรค์ บัวลายปราจีน บัวลายลาว เทพรำลึก ทับทิมสยาม ช่อมรกต และปทุมรัตน์ เป็นต้น
  • กลุ่มกระเจียว กลุ่มนี้มีอยู่หลายชนิดพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชนิดที่พบขึ้นในที่โล่งแจ้งมักจะมีลักษณะใบหนา มีขนมาก ส่วนพวกที่พบขึ้นในป่าชื้นมักจะมีลักษณะใบบาง ลักษณะของช่อดอกจะเป็นทรงกระบอก อาจแทงช่อดอกขึ้นมาจากเหง้าโดยตรงหรือออกจากทางด้านข้างของลำต้นเทียม ดอกจริงมีสีขาวหรือเหลือง หลายชนิดในกลุ่มนี้สามารถผลิตเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถางได้เช่นกัน ที่สำคัญได้แก่ บัวชั้น กระเจียวส้ม พลอยไพลิน พลอยทักษิณ และพลอยชมพู เป็นต้น
ปทุมมาจะพักตัวในช่วงปลายเดือนกันยายนและพร้อมที่จะเติบโตได้ใหม่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม การปลูกควรปลูกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอินทรีวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี การปลูกในแปลงต้องใส่ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยคอกประมาณ 3-6 ตันต่อไร่ หน้าแปลงกว้าง 1.2-1.5 เมตร ตากดินนาน ประมาณ 10-14 วัน โดยใช้พลาสติกใสคลุมแปลงให้มิดชิดไม่ให้อากาศถ่ายเทได้เพื่อให้มีความร้อนสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และโรยปูนขาวก่อนเตรียมแปลงเพื่อลดโอกาสของการเกิดโรค กรณีปลูกลงในถุงหรือในกระถาง วัสดุที่ใช้ปลูกควรมีส่วนผสมของทราย ขุยมะพร้าวและขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 2:1:2 สำหรับการปลูกลงแปลงระยะในการปลูกควรอยู่ที่ประมาณ 30 X 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 1 ช้อนชารองก้นหลุมก่อนปลูก การปลูกที่จะทำให้เกิดการแตกกอดีที่สุด คือวางหัวพันธุ์ในแนวนอนเพื่อให้ตาข้างบนเหง้ามีโอกาสเจริญเติบโตเป็นหน่อได้ หลังจากปลูกแล้วให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 เดือนละครั้งในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น และในเดือนที่ 3-5 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 9-24-24 เดือนละครั้งในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้นเช่นกัน สำหรับการรดน้ำควรรดวันละครั้งในช่วงเช้า ยกเว้นวันที่มีฝนตก และการรดน้ำแต่ละครั้งต้องให้เพียงพอที่จะทำให้ดินชื้นตลอดทั้งวัน หลังจากที่ปทุมมาเจริญเติบโตเต็มที่และให้ดอกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนแล้วจะเริ่มพักตัวในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม การเก็บหัวพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม การเก็บเกี่ยวควรทำเมื่อต้นปทุมมาแห้งเต็มที่และยุบตัวลง โดยสังเกตจากใบจะมีสีเหลืองและแห้ง ควรงดการให้น้ำและให้ดินแห้งก่อนการขุดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อเร่งให้มีการสะสมอาหารอย่างเต็มที่ ถ้าเก็บขณะที่ต้นยังไม่แก่เต็มที่ ใบยังตั้งตรงและดินยังมีความชื้นอยู่จะทำให้หัวพันธุ์ที่ขุดได้เหี่ยวเร็วเก็บรักษาได้ไม่นานและมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ
ปทุมมา

สาวน้อยประแป้ง

สาวน้อยประแป้ง
    เป็นไม้ใบประดับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงไว้ประดับอาคารบ้านเรือนและสำนักงานอย่างแพร่หลาย ไม่ต่างไปจากเขียวหมื่นปี ไม้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อมาถึงเมืองไทยก็กลายเป็นไม้มงคลที่ถูกตั้งชื่อให้มีความหมายไปในทางมงคล จึงเป็นไม้ประดับที่นิยมเลี้ยงกันเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้ปลูกเลี้ยง
สาวน้อยประแป้ง อุดมทรัพย์ สาวน้อยประแป้ง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อ้ายใบ เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Dieffenbachia แต่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า Dumbcane มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบหมู่เกาะอินดิสตะวันตกและทวีปอเมริกาใต้ สำหรับคำว่า Dieffenbachia ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน นาย เจ.เอฟ.ดิฟเฟนบาค ( J.F.Dieffenbach ) สาวน้อยประแป้งในเมืองไทยถูกนำเข้าจากประเทศอเมริกาใต้หลายประเทศ เช่น เวเนซุเอล่า บราซิล โคลัมเบีย และคอสตาริก้าเป็นต้น การนำเข้ามีทั้งพันธุ์ดั้งเดิมและลูกผสมใหม่ๆ โดยที่รัฐฟลอริด้าของสหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตลูกผสมใหม่ๆ มากมาย ซึ่งล้วนมีความสวยงามแปลกตา ความสวยงามของไม้ตระกูลสาวน้อยประแป้งอยู่ที่ทรงต้น ใบที่มีขนาดใหญ่ มีริ้วลาย จุดประ สีสันสะดุดตา การเรียงตัวของกาบใบ และความอ่อนช้อยนุ่มนวล เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ของสาวน้อยประแป้ง

เขียวหมื่นปี

เขียวหมื่นปี
 เป็นไม้ประดับที่มีใบสวยงาม สีเขียวตลอดทั้งปี สามารถเจริญงอกงามได้แม้ในที่มีแสงสว่างเพียงเล็กน้อย จึงนิยมใช้ปลูกเลี้ยงประดับภายในอาคาร นอกจากนี้เขียวหมื่นปียังทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้งหรือความชื้นต่ำได้ดี
บัลลังก์ทอง เขียวหมื่นปี เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Aglaonema มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในประเทศเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และ แอฟริกา ไม้ในตระกูลนี้คนไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในชื่อว่านมงคลที่มีสรรพคุณต่างๆ กันตามความเชื่อถือ เช่น ว่านเขียวพันปี, ว่านเขียวหมื่นปี เชื่อว่าจะทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงมีอายุยืนนาน ว่านกวักทองคำ เชื่อว่าจะทำให้ค้าขายดีสามารถกวักสิ่งดีๆ ให้มาหาได้ ว่านเงินเต็มบ้าน เชื่อว่าจะทำให้ร่ำรวยเงินตราไม่รู้จบ ซึ่งเขียวหมื่นปีที่ปลูกเลี้ยงกันในประเทศไทย บางพันธุ์ก็เป็นพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเอง บางพันธุ์ก็สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วมาตั้งชื่อเป็นภาษาไทยให้มีความหมายไปในทางมงคลเพื่อผลทางการค้า รวมถึงการนำพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อผสมกับเขียวหมื่นปีพันธุ์พื้นเมือง เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีสีสันสวยงามแปลกตาออกไป

โกสน

โกสน
เป็นไม้ประดับอีกชนิดหนึ่ง ที่มีจุดเด่นอยู่ที่สีสันและลักษณะรูปทรงของใบที่มีความสวยงามต่างไปจากไม้อื่นๆ สันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อประมาณกว่า 100 ปี มาแล้วหรือพอๆ กับบอนสีและไม้ประดับอื่นๆ อีกหลายชนิด
คำว่า โกสน เพี้ยนมาจากคำว่า โกรต๋น หรือ Croton ในภาษาอังกฤษ โกสนเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง มีลักษณะใบแตกต่างกันแล้วแต่สายพันธุ์ คือ มีทั้ง ใบกลม ใบยาว ใบกว้าง ใบแคบและใบบิด พื้นใบก็มีทั้งสีเดียว สองสี สามสี หรือมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสีเขียว เหลือง แสด ชมพู และแดง จึงจัดได้ว่าเป็นไม้ประดับที่มีความสวยงาม โกสนเป็นพืชในตระกูล Cadiaeum Varigeatum มีถิ่นกำเนิดกระจัดกระจายอยู่ในมลายู อินเดีย จีน อเมริกา และยุโรป ในประเทศไทย พระยาภาสกรวงศ์ เป็นผู้สั่งนำเข้ามาจากอินเดียเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2423 เรียกกันว่า แขกดำ และได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์กันเฉพาะในวังของเจ้านายและข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเป็นเวลานานพอสมควร ต่อมาจึงได้ขยายตัวออกไปตามวัดวาอารามต่างและประชาชนทั่วไปตามลำดับ ทำให้มีการขยายพันธุ์โกสนออกไปอย่างกว้างขวางรวมทั้งมีการผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่อีกมากมาย
โกสน

บอนสี

บอนสี
เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงามโดยเฉพาะใบที่มีรูปทรงและสีสันสวยงามแปลกตาจนได้ชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้ใบ" เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Caladium มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้และประเทศในเขตร้อนทั่วไป บอนสีเป็นไม้ประเภทล้มลุกที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินคล้ายหัวเผือกหรือมัน มีรากเป็นเส้นฝอยเล็กๆ แทงออกมาระหว่างหัวกับลำต้นและพักตัวในฤดูหนาวโดยจะทิ้งใบจนหมดและเริ่มผลิใบเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูฝน
บอนสี หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า "บอนฝรั่ง" (Caladium Becolor) จากชื่อทำให้คาดเดาได้ว่าเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จากหลักฐานพอสรุปได้ว่าบอนสีปลูกเลี้ยงกันในต่างประเทศมานานกว่า 300 ปีแล้ว มีการสันนิษฐานว่า บอนสีบางต้นมีผู้นำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชวา เปอร์เซีย และมีความสัมพันธ์กับชาวยุโรปเป็นอย่างดี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสด็จนิวัตพระนครหลังเสด็จประภาสยุโรป ราวปี พ.ศ. 2444 ทรงนำพันธุ์ไม้หลายชนิดจากยุโรปเข้ามาปลูกในประเทศไทย ในจำนวนพันธุ์ไม้เหล่านี้มีบอนฝรั่งหรือบอนสีรวมอยู่ด้วย ในช่วงแรกปลูกเลี้ยงกันเฉพาะในกลุ่มของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และมักปิดบังวิธีการปลูกเลี้ยงและการผสมพันธุ์บอน จนกระทั่งความนิยมปลูกเลี้ยงบอนสีเสื่อมลง บอนสีพันธุ์ต่างๆ จึงได้แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป
บอนสี การปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงประมาณปี พ.ศ.2470-2475 เป็นช่วงที่บอนสีได้รับความนิยมมากที่สุด มีการผสมพันธุ์บอนขึ้นใหม่มากมาย มีสีสันสวยงามแปลกตาต่างไปจากบอนสีดั้งเดิม มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย มีการตั้งชื่อแยกหมวดหมู่ตามลักษณะและสีสันของใบออกเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า "ตับ" นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดบอนสีที่ "สนามบาร์ไก่ขาว" หลังจากปี พ.ศ.2475 บอนสีก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง จนกระทั่งราวปี พ.ศ.2508 มีผู้สั่งบอนใบยาวจากสหรัฐเข้ามาในประเทศไทย ทำให้มีการผสมพันธุ์บอนสีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก บอนสีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งราวปี พ.ศ.2522-2525 มีการจัดตั้ง สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์และพัฒนาการปลูกเลี้ยงบอนสีรวมถึงการรับจดทะเบียนชื่อบอนสีที่ได้รับการผสมขึ้นใหม่ และด้วยความสามารถของคนไทย ปัจจุบันการปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีการพัฒนาวิธีการปลูกเลี้ยงและสายพันธุ์ให้มีสีสันสวยงามแปลกตาไปจากเดิมมาก จนอาจกล่าวได้ว่าบอนสีคือบอนของคนไทย

โป๊ยเซียน

โป๊ยเซียน
ต้นไม้แห่งโชคลาภตามความเชื่อถือแต่โบราณ จัดเป็นไม้อวบน้ำอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มาก พบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อน พืชในวงศ์นี้มีมากกว่า 300 สกุล โป๊ยเซียนจัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Euphorbia ซึ่งพืชในสกุลนี้มีไม่ต่ำกว่า 2,500 ชนิด ได้แก่ คริสต์มาส สลัดได ส้มเช้า หญ้ายาง และ กระบองเพชรบางชนิด
โป๊ยเซียน Crown of Thorns โป๊ยเซียน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มงกุฎหนาม (Crown of Thorns) เนื่องจากลักษณะของลำตันที่มีหนามอยู่รอบเหมือนมงกุฎ นอกจากนี้ยังมีชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ เรียก ไม้รับแขก เชียงใหม่ เรียก ไม้ระวิงระไว, พระเจ้ารอบโลก หรือ ว่านเข็มพระอินทร์ แม่ฮ่องสอน เรียก ว่านมุงเมือง แต่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันในชื่อ โป๊ยเซียน มาช้านาน คำว่า โป๊ยเซียน เป็นคำในภาษาจีน แปลว่า เทพยดาผู้วิเศษ 8 องค์ ดังนั้นจึงมีความเชื่อกันว่าถ้าโป๊ยเซียนออกดอกครบ 8 ดอกในหนึ่งช่อจะนำความโชคดีให้แก่ผู้ปลูกเลี้ยง ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้สันนิษฐานว่าชาวจีนน่าจะเป็นผู้นำโป๊ยเซียนเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทย ครั้งสมัยที่มีการติดต่อค้าขายกับคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแต่เดิมนั้นดอกของโป๊ยเซียนจะมีขนาด 1-2 ซม. เท่านั้น แต่ในปัจจุบันคนไทยได้ผสมพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์โป๊ยเซียนจนมีขนาดดอกใหญ่กว่า 6 ซม. นอกจากนี้ดอกยังมีสีสันที่สวยงาม จนอาจกล่าวได้ว่าโป๊ยเซียนไทยดีที่สุดในโลก